19/12/2024

ลำพูน – คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ศึกษาดูงานเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยภาคเหนือ

1147511_0

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ศึกษาดูงานเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

 

นายชูชีพ เอื้อการณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา คนที่ 2 และคณะฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย(น้ำท่วม(Flood))ภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เพื่อนำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ในพื้นที่ของจังหวัดลำพูน

โดยมี นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัด(หสจ.)ลำพูน, นางสาวศศิพิมล ไชยแสนพงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 09:00 นาฬิกา ที่ห้องประชุมหริภุญชัย ศาลากลางจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญ มีดังนี้ การประชุมหารือ และรับฟังข้อมูล ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคเหนือ ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย
– การรับฟังการรายงานข้อมูลภาพรวม ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร มาตรการเชิงป้องกันเหตุก่อน และหลังเกิดอุทกภัยภาคเหนือ


– การรายงานเกี่ยวกับข้อมูลมาตรการ หรือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ และการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งภาคการเกษตร
– การรายงานภาพรวมในการจัดการและการบูรณาการน้ำชุมชน สู่การพัฒนาเกษตรกร และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่สามารถร่วมกันลักดัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในอนาคต

ในส่วนของภาพรวมผลกระทบ ที่เกิดจากอุทกภัย ปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 8 อำเภอ(เมืองลำพูน แม่ทา บ้านธิ ป่าซาง บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ลี้ เวียงหนองล่อง) 48 ตำบล 460 หมู่บ้าน 13 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ 14,555 ครัวเรือน เสียชีวิต 1 ราย

การดำเนินการของจังหวัดลำพูนตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ได้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แจ้งทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ติดตามการพยากรณ์อากาศ วิเคราะห์สถานการณ์ แจ้งเตือนภัยประชาชน เตรียมการรับสถานการณ์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การพร่องน้ำ การเปิดประตูระบายน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในระหว่างเกิดภัยได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค โดยทางราชการ อปท. ภาคเอกชน วัดมหาวัน สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ของจังหวัดลำพูน ที่ได้รับมวลน้ำจากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไหลบ่าเป็นแนวระนาบขนานกับลำน้ำปิง เข้าสู่พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จังหวัดลำพูนได้แบ่งมวลน้ำ(ประมาณ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)) ออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้สามารถควบคุม และบริหารจัดการน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิง เพื่อรองรับการอพยพจังหวัดลำพูน ในพื้นที่ 8 อำเภอ จำนวน 320 แห่ง รองรับประชาชนได้ จำนวน 171,346 คน และได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ตามยอดผู้ลงทะเบียน จำนวน 10,489 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 67)

จังหวัดลำพูน ได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยแล้ว จำนวน 9,620 ราย จำนวนเงิน -86,580,000.00-บาท การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ทั้งในด้านสิ่งสาธารณะประโยชน์และด้านการเกษตร

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปยังจุดดูงานที่ 1 สวนลำไยของ นายคำรณ สุรินธรรม หมู่ 8 บ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เพื่อศึกษาดูงานความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากอุทภภัยภาคเหนือ, การบริหารจัดการน้ำ, การพัฒนาแหล่งน้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งภาคการเกษตร..

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

ข่าวที่น่าติดตาม